วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ตอนที่ 12 Season 2 ชื่อตอน หาเงินตั้งตัวเป็นเถ้าแก่






       ความฝันอย่างหนึ่งของมนุษย์เงินเดือนที่มักจะได้ยินกันบ่อย ๆ คือ อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ อยากมีร้านเป็นของตัวเอง อยากเป็นเจ้านายตัวเอง แต่ มักจะเจออุปสรรค์ใหญ่อย่างหนึ่งคือ ไม่มีเงินทุน ยังไม่พร้อม เพราะเงินไม่พอ ต้องเก็บเงินก่อน เพื่อเอาไปเปิดร้าน ปัญหาเหล่านี้มีจะเกิดขึ้นเสมอ สิ่งหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนต้องจัดการทางด้านการเงินเพื่อเป็นเจ้าของกิจการในอนาคตจะมีลำดับขั้นตอนง่าย ๆ เพียง 2 ขั้นตอน คือตั้งเป้าหมายของการเริ่มต้นการมีกิจการของตัวเอง และ ลงมือปฏิบัติหาเงินลงทุน

แต่ก่อนที่จะเริ่มหาเงินทุนนั้น จะต้องกำหนดจำนวนเงินเป้าหมายของการตั้งต้นธุรกิจเสียก่อน ซึ่งในแต่ธุรกิจนั้นจะใช้เงินทุนที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นกับประเภท และขนาด ของธุรกิจ ซึ่งแต่ละคนจะต้องไปทำการศึกษาการธุรกิจของตนเองอย่างถ่องแท้ เข้าใจ และมีความพร้อมเสียก่อน สมมติว่า ธุรกิจที่สนใจเป็นร้านกาแฟ ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 500,000 บาท พร้อมเงินทุนหมุนเวียนอีกประมาณ 50,000 บาท นั้นหมายถึงจะต้องมีเงิน 550,000 บาท สำหรับการลงทุนโดยไม่กู้ ถ้าผู้ที่สนใจอยากทำร้านกาแฟ มีเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท และมีความรอบรู้ด้านกาแฟเป็นอย่างดีแล้ว ทั้งวิธีการชง การเลือกวัตถุดิบ การปรับรสชาติ และทำการตลาดแล้ว แต่มีเงินทุนเริ่มต้นอยู่ในปัจจุบันเพียง 100,000 บาท แสดงว่า รายนี้จะต้องหาเงินอีก 450,000 บาท โดยการใช้เงินเก็บของตนเอง ปัญหาคือ จะต้องเก็บเงินนานเท่าไหร่ถึงจะสามารถเปิดร้านกาแฟได้???

ถ้ารายนี้สามารถเก็บเงินได้เดือนละ 5,000 บาท เก็บเงินอย่างเดียวโดยไม่สนใจเรื่องผลตอบแทนของการออมเงินอะไรเลย เขาจะต้องเก็บเงินเป็นระยะเวลา 90 เดือน หรือ 7 ปี 6 เดือน แต่ถ้าเก็บเงินโดยการหาเงินฝากที่จ่ายดอกเบี้ย 3% แบบรายเดือน จะทำให้เหลือเวลา 82 เดือน หรือ 6 ปี 10 เดือน ถ้าเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็น 5% จะทำให้ระยะเวลาเหลือ 72 เดือน หรือ 6 ปี ในความเป็นจริง การเก็บเงินอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป ซึ่งสามารถใช้วิธีอื่น ๆ ได้นอกจากการฝากเงิน เช่นการลงทุนในหุ้น หรือกองทุน จะทำให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น บางครั้งอาจจะถึง 20% ต่อปี ทำให้ระยะเวลาลดลงได้อีก

การหาเงินลงทุนนั้น จะมีด้วยกันอยู่ 2 แหล่งใหญ่ ๆ คือ เงินทุน กับเงินกู้ ตามหลักของงบดุล เงินทุนในที่นี้หมายถึงส่วนของเจ้าของ (Equity) ด้วยชื่อก็บอกในตัวเองอยู่แล้วว่า ส่วนของเจ้าของ ย่อมหมายถึงเงินที่เจ้าของควักออกมาจ่ายเพื่อการลงทุนเอง ไม่ได้เกิดจากการหยิบยืมใคร เงินในส่วนนี้ ย่อมมีที่มาที่แตกต่างกันไป ซึ่งมักจะมีคำถามว่า ถ้าเป็นบุคคลทั่วไป ไม่ได้รวยมาแต่เกิด จะไปหาเงินเหล่านี้ได้จากที่ไหน ซึ่งส่วนของเจ้าของจะสามารถแบ่งประเภทแหล่งที่มาจากส่วนของเจ้าของได้ง่าย ๆ ดังนี้
1. รอโชคชะตา หมายถึง รอให้ได้ลาภลอยมา จนได้เป็นเงินก้อน แล้วเอามาลงทุน แต่แบบนี้มีโอกาสน้อยมาก เช่น ถ้าต้องการถูกสลากกินแบ่งรางวัลที่ 1 จะมีโอกาสเพียง 1 ในล้าน ใน 1 ปี มี 24 งวดที่ออก ซึ่งวิธีนี้ ลงทุนน้อย ความเสี่ยงสูง ไม่สามารถวางแผนอะไรได้ แล้วแต่บุญวาสนาเท่านั้น

2. มรดก หรือ เงินจากครอบครัว หมายถึง เงินที่เกิดขึ้นจากการมอบให้จากญาติ หรือ บุคคลในครอบ ทั้งการให้จากเจ้าของเดิม หรือ พินัยกรรม หรือ สิทธิตามกฎหมาย ซึ่งจะมีข้อจำกัด 2 ประการคือ 1) ไม่ใช้ทุกคนจะได้เงินจากส่วนนี้ โดยเฉพาะชนชั้นกลางลงมา เพราะที่บ้านไม่ได้มีมรดกอะไรเอาไว้ให้ และ 2) เงินส่วนนี้มักจะได้มาโดยการแลกกับการสูญเสียบุคคลที่เคารพนับถือ ซึ่ง บางครั้งทำใจไม่ได้ถ้าจะเกิดความเสี่ยงในการลงทุนในการทำธุรกิจ เพราะมีคุณค่าทางจิตใจ

3. เก็บหอมรอมริบ หมายถึง เงินส่วนที่เหลือจากการใช้จ่ายต่าง ๆ ในแต่ละวัน แต่ละเดือน หลายคนสามารถตั้งตัวได้จากการใช้แหล่งเงินประเภทนี้ แต่ต้องมีคุณสมบัติพิเศษบางประการคือ ใช้ให้น้อยกว่าเงินที่หาได้ ปัญหาส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่พนักงานกินเงินเดือนระดับกลาง ๆ ลงมา กลุ่มที่เงินเดือนไม่สูงมากนัก มักจะมีคำพูดว่า ขนาดเงินเดือนจะกินยังไม่ค่อยพอ แล้วจะเอาเงินเก็บที่ไหน ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องกลับมาพิจารณาในรายละเอียดต่างๆ ของรายได้และรายจ่ายว่า ในมุมของรายได้ จะมีวิธีไหนบ้างที่สามารถเพิ่มรายได้ได้บ้าง เช่น เพิ่มศักยภาพในการทำงานเพื่อให้ได้เงินเดือนที่มากขึ้น บางคนใช้วิธีไปเรียนต่อเพื่อเพิ่มฐานเงินเดือน บางคนใช้วิธีทำงานให้หนักขึ้น บางคนทำงานล่วงเวลา บางคนทำงานเสริมนอกเวลางาน แต่ทั้งนี้จะต้องเงินงานที่ถูกกฎหมายและศีลธรรมด้วย  ในการทำงานเสริมนอกเวลางานนั้นจะมีข้อดีมากกว่าในการหารายได้อื่น ๆ อยู่ตรงที่เป็นการฝึกฝนทำธุรกิจหรือการค้าขายไปในตัว ซึ่งหลาย ๆ คนทำงานเสริมที่เป็นธุรกิจที่ต้องการลงทุน หรือเรียกว่าเปลี่ยนจากอาชีพเสริมเป็นอาชีพหลักไปเลยก็มี

ในการเก็บหอมรอมริบนั้น ยังมีแหล่งอื่น ๆ ที่สามารถกลายเป็นแหล่งเงินทุนได้ เพียงแต่มีเงื่อนไขในการออมเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น อาทิ LTF ต้องมีระยะเวลาในการลงทุน 5 ปี แล้วจะได้เป็นเงินก้อนที่ทุนกลับมาพร้อมกับผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงของราคา NAV ในแต่ละช่วงเวลา กองทุน RMF ต้องลงทุนในระยะยาวติดต่อกันทุกปีมากกว่า 5 ปีและต้องมีอายุ 55 ปี ขึ้นไป จึงจะได้เป็นเงินก้อนพร้อมผลตอบแทน และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งบางบริษัทจะมีการตั้งกองทุนนี้เพื่อให้พนักงานได้มีเงินเก็บในระยะยาว และทางบริษัทจะมีการสมทบในจำนวนที่เท่ากันกับพนักงาน เมื่อพนักงานลาออก จะสามารถนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนต่อที่อื่นได้ แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องรักษาเงินในการลงทุนหรือออมไว้มากกว่า 5 ปี และอายุต้องมากกว่า 55 ปี หากมีการเปลี่ยนงานแล้วไม่ได้มีการสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนอายุ 55 ให้แสดงความประสงค์คงเงินไว้ในกองทุนจนอายุ 55 ปี จะไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งทั้ง 3 กองทุนที่กล่าวมานั้น หากมีการผิดเงื่อนไข จะต้องนำเงินที่เคยหลักลดหย่อนภาษีไว้มาคำนวณเป็นรายได้ในปีภาษีที่ผิดเงื่อนไข ตามวิธีของสรรพากร และคำนวณภาษีใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม แหล่งเงินเหล่านี้ อาจจะกลายเป็นอีกแหล่งหนึ่งในการลงทุนขนาดเล็ก ๆ ได้ ซึ่งบางคนยอมที่จะเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีไปก็ตาม

ในการเก็บเงินเพื่อลการงทุนในกิจการนั้น จะต้องอาศัยวินัยในการออมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการออมระยะยาว นั้นคือจะต้องใช้การวางแผนการใช้จ่ายของตนเองให้ดี โดยแบ่งส่วนของรายจ่ายต่าง ๆ ในแต่ละเดือนออกเป็นส่วน ๆ คือ ส่วนที่ค่าใช้จ่ายจำเป็น เพื่อการดำรงชีพ ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการอุปการะบุคคลในครอบครัว และค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่จำเป็น และใช้จ่ายเพื่อการบันเทิง ซึ่งส่วนนี้จริง ๆ แล้วเป็นส่วนจำเป็นในชีวิตเพราะถ้าการทำงานกลายเป็นการทำมาหาเก็บ จะทำให้เกิดการท้อได้ในการออมเงินระยะยาว สำหรับเงินส่วนที่เหลือจากที่กล่าวมาข้างต้น จะกลายเป็นเงินเก็บ ซึ่งสามารถจะกำหนดได้คร่าวๆ ว่าจะสามารถเก็บเงินได้เท่าไหร่ คือ ในการเก็บเงินนั้นยังต้องแบ่งออกเป็นอีก 2 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนแรกเป็นการออมเงินเพื่อเป้าหมายของการทำธุรกิจ และส่วนที่ 2 เป็นการออมเงินเพื่อการใช้จ่ายฉุกเฉิน หรือค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดคิด การจะกำหนดเป็นส่วนๆ ง่าย ๆ ที่ 80% เป็นการออมเพื่อตั้งธุรกิจ และอีก 20% เป็นการออมเพื่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ออมไปเรื่อย ๆ จนกว่าค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉินจะมีเท่ากับ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายจำเป็นในแต่ละเดือน จึงหยุดและไปเพิ่มการออมในส่วนเพื่อการตั้งต้นธุรกิจแทน โดยการออมเพื่อค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉินนั้น ให้ออมแบบที่มีสภาพคล่องสูง เช่นการออมในบัญชีออมทรัพย์ หรือกองทุนที่สามารถขายได้ทุกวัน เพราะยากฉุกเฉินนั้นมักจะไม่สามารถรอเวลาในการถอนเงินได้

4.  การร่วมหุ้นลงขัน ในวิธีการนี้ จะใช้เมื่อการลงทุนทำธุรกิจ ไม่สามารถลงทุนโดยคนเดียวได้ ต้องใช้เงินของคนมากกว่า 1 คน มาร่วมกัน ซึ่งรูปแบบในการลงขัน มีด้วยกันหลายวิธี ตั้งแต่การหุ้นเงินโดยการเชื่อใจกัน ไม่มีการจดทะเบียนใด ๆ ทั้งสิ้น ขั้นต่อไปเป็นการจดทะเบียนเป็นคณะบุคคล เพื่อให้เกิดการรับรู้รายได้และมีการเสียภาษี ขั้นต่อไป เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จนไปถึงบริษัท ซึ่ง จะมีความซับซ้อน และข้อบังคับที่แตกต่างกันไป แต่หลักการสำคัญคือ การระดมเงินทุนจากหลาย ๆ คนเข้าด้วยกัน เพื่อนำมาลงทุนทางธุรกิจ และต้องมีการทำบัญชีเพื่อการชำระภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อกิจการใหญ่ขึ้น อาจจะกลายเป็น บริษัทมหาชน เพื่อขายหุ้นระดมทุนให้กับบุคคลทั่วไป หรือเป็น บริษัทข้ามชาติ (ที่ชอบลงท้ายด้วย Inc.) ก็ได้

ทั้งหมดเป็นช่องทางการหาเงินลงทุนแบบคร่าว ๆ ซึ่งในความเป็นจริงยังมีอีกหลายช่องทาง หรือมีนายทุนหลายคนที่มีความพร้อมในการเป็นแหล่งเงินในการลงทุนได้ เพียงแต่ต้องมีนวัตกรรมที่ตรงต่อวัตถุประสงค์ในการลงทุนนั้น ๆ อย่าง Apple Inc. เองก็เป็นบริษัทหนึ่งที่ได้รับเงินสนับสนุนจากแหล่งเงินทุนที่ต้องการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม หรือที่เรียกว่า Venture Capital

ในด้านที่ 2 ของการหาเงินทุนคือการกู้ ซึ่งการกู้นั้น มีด้วยกันหลายช่องทางโดยสามารถแบ่งเป็น 3 ช่องทางใหญ่ ๆ คือ

1 กู้เงินจากบุคคล หรือ นิติบุคคลที่ไม่ใช้สถาบันการเงิน มีทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เช่น การกู้เงินที่บ้านหรือเพื่อน หรือบุคคลที่รู้จัก มาลงทุน เมื่อตั้งตัวได้แล้ว ก็นำเงินไปคืนให้กับที่บ้าน หรือบุคคลเหล่านั้น สำหรับดอกเบี้ย ก็แล้วแต่กรณี ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นเท่าไหร่ บางคนอาจจะไปกู้บริษัทของที่บ้านมาลงทุนก็ได้ ขึ้นกับสถานะและช่องทางของแต่ละคน

2. กู้เงินจากสถาบันการเงิน คำว่าสถาบันการเงินในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงธนาคารเท่านั้น แต่หมายความรวมถึง โรงรับจำนำ สหกรณ์ หรือแม้แต่บริษัทประกันด้วย ในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน มีข้อดีที่มีกฎหมายคุ้มครอง มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน สามารถวางแผนจัดการได้โดยง่าย แม้แต่โรงรับจำนำนั้น ก็ยังมี พรบ.โรงรับจำนำควบคุมเอาไว้อยู่ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้กู้ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินก็ย่อมที่จะมีเงื่อนไขในการให้กู้อยู่ เช่น เงื่อนไขหลักประกัน เงื่อนไขการทำงานและรายได้ เงื่อนไขการชำระคืน เป็นต้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ถูกปฏิเสธการให้เงินกู้อยู่เป็นประจำ ผู้ที่ต้องการกู้เงินจากช่องทางกลุ่มนี้ จำต้องทำการศึกษา และสร้างประวัติทางด้านเครดิต การทำงาน ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของและสถาบัน สำหรับบริษัทประกัน ก็สามารถเป็นแหล่งเงินกู้ได้ สำหรับคนที่มีประกันชีวิตประเภทออมทรัพย์ สามารถกู้เงินจากมูลค่าเงินสดของกรมธรรม์ของตนเองได้ ตามที่ทางบริษัทประกันได้แจ้งไว้ตามตารางกรรมธรรม์

3. แหล่งเงินทุนตามนโยบายของรัฐ แหล่งเงินทุนเหล่านี้ จะเกิดขึ้นตามนโยบาย ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงเวลา เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการธนาคารประชาชน โครงการกองทุนตั้งตัว ซึ่งเงื่อนไขจะแตกต่างกันไปในการกู้ยืมแต่ละโครงการ ข้อดีคือ โครงการเหล่านี้มักจะเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้กับผู้ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งสถาบันการเงิน ทั่วไป หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่สถาบันการเงินทั่วไปกำหนด

ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมของการหาแหล่งเงิน เพื่อการลงทุน บางคนสามารถให้เงินมากกว่า 1 แหล่ง หรือเรียกว่าใช้แบบผสมก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงพึงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งคือ อย่าทำธุรกิจที่เกินตัว คำว่าเกินตัวนั้นมีด้วยกัน 2 ทาง คือ เกินกว่าความสามารถในการดูแลธุรกิจด้วยตัวเอง ทำให้เกิดช่องรั่วไหลของธุรกิจได้ง่าย การรั่วไหลนี้ รวมถึง ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การพลาดโอกาสทางการขายจากการที่ดูแลไม่ทั่วถึง และ ในความหมายที่ 2 คือ การลงทุนที่เกินกว่าขนาดตลาด หรือ ไม่มีตลาดรองรับที่มากพอกับธุรกิจที่ดำเนินอยู่ทั้งหมด

นายพากเพียร